จดหมายถึงอีสาน: สูนเด้คึดว่าเฮาเป็นแค่เมียฝรั่ง
เปิดพื้นที่ใหม่ “จดหมายถึงอีสาน” ด้วยความในใจของ นิตยา แสนบุตร เอาพลังจากความ “สูน” ที่โตตนของเธอถูกลดทอนเหลือเป็นเพียง “เมียฝรั่งโมเดล” ในสายตาของเพื่อนบ้านคนหนึ่ง มากลั่นกรองเป็นคำตอบโต้ผ่านเรื่องราวชีวิต เปิดผนึกให้แก่สังคมอย่างเรียบง่ายและไม่ถือตัว เพื่อจะเตือนคุณว่าขอให้คิดเสียใหม่ถ้าคิดว่าเป้าหมายสูงสุดของเด็กสาวลูกชาวบ้านอีสานคือการได้ผัวฝรั่ง
โดย นิตยา แสนบุตร
ผู้เขียนและคู่ครองเดินจับมือกันตอนไปเที่ยวกัมพูชา (ซ้าย) ผู้เขียนหันหลังจูงมือแม่ใหญ่ในวันแต่งงานที่จัดที่ไทย (ขวา)
ปกติสิพยายามทำความเข้าใจว่า เอ้อ…สังคมเฮากะเป็นจั่งสี้ แต่มื่อนั่นมันอดบ่ได้อีหลี๋ มื่อที่เฮากลายเป็น “เมียฝรั่ง” โตอย่าง ในสายตาผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยากให้เด็กน้อยเจริญรอยตามไปซ่ำ
หลายเทือก็คึดน้อยใจ จริงๆ บ่ฮู้ว่าสิน้อยใจ หรือสูนให้กับสังคมเฮา ที่มองว่าผู้ญิงไทย โดยเฉพาะผู้ญิงอีสาน ถ้าได้ผัวฝรั่ง หรือแต่งงานกับชาวต่างชาติหนิ มันต้องเอาเพราะว่าเรื่องเงิน คือใผกะซาม ว่าแต่เป็นฝรั่ง แล้วกะว่าแต่มีเงินกะสิเอา บางเทือถึงกับยกย่อง ยกยอว่า “วาสนาดี” เลยได้ผัวฝรั่ง ได้ผัวฝรั่งแล่วมันต้องรวยจั๊งซี่จั๊งซั่น
บ่ว่าผู้ญิงคนนั้นจะมีความสามารถหรือบ่ ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานหรือบ่ หรือว่าฟันฝ่าอุปสรรคหยังมาแหน่ในชีวิต มันก็ถูกมองข้ามไปเบิ่ด เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ญิงคนนั้นกะวาสนาดีย่อนว่า “ได้ผัวฝรั่ง”
จริงๆ แล้ว แต่ก่อนเฮาก็เคยสะออนชาวต่างชาติเหมือนกันกับหลายๆ คน แต่พอมาเรียนมหาวิทยาลัยซึ่งมีโอกาสได้เฮ็ดงานกับชาวต่างชาติตลอด เฮาก็ได้ตระหนักว่าชาวต่างชาติแต่ละคนก็คือคนไทย
มีพวกนิสัยดี มีพวกนิสัยบ่ดี
มีพวกจิตใจดี มีพวกจิตใจบ่ดี
มีพวกมักดูถูกคนอื่นและมองคนอื่นว่าด้อยกว่าโตเองคือกัน
จนกระทั่งมื่อหนึ่งโตเฮาเองกะกลายมาเป็นหมู่สนิทกับผู้ชายชาวไอริชคนหนึ่งถึงขั้นว่าเป็นพี่เป็นน้องได้เลยกะว่าได้ คือสนิทกันแฮงจนหลายเทือคนเข้าใจผิดว่าเป็นแฟนกัน จนเฮาเริ่มอึดอัด บ่อยากให้คนคึดว่าเฮามีแฟนเป็นฝรั่ง (ซึ่งในความฮู้สึกเช่นนั่นกะแสดงจิตใต้สำนึกของการเหยียดค่าผู้อื่นและการเหยียดสีผิวของโตเฮาเอง ณ ตอนนั้นเช่นกัน)
จนมื่อหนึ่งเฮาเริ่มตีโตออกห่างจากเพื่อนชายคนนั่น ซึ่งเฮ็ดให้เฮาฮู้สึกแย่ ฮู้สึกอึดอัดเพราะเฮายังเฮ็ดงานร่วมกันอยู่ และหมู่คนนี้ก็บ่ได้มีเพื่อนฝูงที่สนิทหลายเท่ากับเฮา เฮากะเหลือโตนเพิ่นที่เฮาแคร์ความฮู้สึกหรือคำเว่าคนอื่นเกินไป เฮาเสียดายความฮู้สึกดีๆ และมิตรภาพดีๆ ที่เฮามีต่อกัน จนมื้อหนึ่งเฮาก็ทนบ่ไหวแล้ว เฮาก็เลยตัดสินใจว่าบ่มีอีหยังสิสำคัญไปกว่าการดูแลความฮู้สึกของมิตรแท้ของเฮาเอง
ท้ายที่สุดแล้วเฮากะบอกโตเองว่า… คนที่ตัดสินเฮา เขากะบ่ได้เอาข้าวให้เฮากิน เขาบ่ได้มีความสำคัญในชีวิตเฮาเลย เป็นหยังเฮาจั่งคอยไปสนใจว่าเขาจะคึดกับเฮาจั่งใด๋ มันแมนหมู่เฮานี่เองที่เป็นคนคอยสนับสนุนเฮา คอยดูแลเฮา สอนให้เฮาเติบโต หลังจากนั่นมาเฮากะเลยบ่ค่อยสนใจว่าใผสิว่าจั่งใด๋
เพราะท้ายที่สุดแล้วคนที่บ่เข้าใจหรือบ่ฮู้จักโตตนและเหตุผลของเฮาก็คือ กลุ่มคนที่บ่ได้มีอิทธิพลหรือเกี่ยวข้องอี๋หยังกับเฮาเลย
แล้วประสบการณ์คล้ายๆ กันมันก็เกิดขึ้นอีกเทือนึง เมื่อสามีคนปัจจุบันของเฮาซึ่งเฮาเคยเฮ็ดงานร่วมกันมา เป็นคนชาวอเมริกันมาขอคบกับเฮา เฮาบ่ได้ตกลงคบกับเขาเป็นเวลาสองปีกว่า ทั้งๆ ที่มักในความเป็นโตตนของเขา
โชคดีที่เฮาได้มาพบกันอีกเทือนึงเมื่อสองปีผ่านไป ด้วยความที่เฮาเห็นความจริงใจ และความที่เขาบ่ดูถูกคนไทย ฮักคนอีสาน มีความฮักต่อหมู่พวกมิตรสหาย แล้วกะบ่ถอนใจจากเฮาง่ายๆ เฮากะเลยตัดสินใจคบหาดูใจกัน
เขายอมที่จะเสียสละอีหยังหลายๆ อย่างเพื่อเฮา กินอาหารอีสานทุกอย่าง บ่เคยดูถูกกลิ่นปลาแดก เคารพวัฒนธรรมเฮา และบ่เคยคึดว่าผู้ซายมีสิทธิเหนือผู้หญิง บ่เคยปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้ของเฮา คอยเป็นกำลังใจและสนับสนุนเฮาทุกอย่าง และความฮักและเคารพที่เพิ่นมีต่อพ่อแม่ และสมาชิกในครอบครัวเฮานี่ก็เป็นสิ่งที่เฮาประทับใจเพิ่นอีหลี เฮาร่วมทุกข์ร่วมสุขมานำกันหลายจนฮู้จักโตตนที่แท้จริงของกันและกัน นี่เป็นเหตุผลที่เฮาตัดสินใจคองคู่กับเพิ่น หลังจากคบกันมา ๗ ปีเต็มๆ
ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี่เป็นคุณสมบัติของเพิ่นเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มิตรแท้คนหนึ่ง บ่แมนย่อนว่าลาวเป็นฝรั่ง บ่แมนย่อนว่าลาวเป็นคนขาว
แต่เวลาเฮาไปไส เฮากะสิอึดอัดอยู่ เพราะสิ่งที่คนมองเฮาคล้ายๆ กับว่า เฮาเอาผัวผู้นี่ด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียวคือว่าลาวเป็น “ฝรั่ง” มันคึดน้อยใจอีหลี บางเทือคนกะสิย่องว่าเฮาคือเก่งได้ไปเรียนต่อเมืองนอกเมืองนา ได้ซอยเหลือพ่อแม่ ได้มีโอกาสไปต่างประเทศ แต่ครั้นคุยกันไปคุยกันมาแล้วฮู้ว่าสามีเฮาเป็นชาวต่างชาติ ทุกคนก็จะสรุปในใจว่า “อ้อ…ที่ทำทุกอย่างได้เพราะได้สามีฝรั่ง”
บ่อยครั้งเฮาเศร้าใจ เพราะความคึดจั่งสี้มันลบความเป็นโตตนของเฮาถิ่มเมิ่ด เฮาฝ่าฟันความลำบากอี๋หยังมาหลาย ทำงานมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ถึงจะจนแต่ก็เสียสละทุกอย่างส่งให้เฮาเรียนหนังสือ เฮาล่อนเล่ไปเป็นเด็กวัดเพื่อให้ได้เรียนหนังสือ ออกจากบ้านตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี คนในหมู่บ้านนินทาว่าพ่อแม่เฮาโง่ “จนปันได๋กะยังสิส่งลูกไปเรียน บ่จบ ม. ๖ มันก็สิต้องท้องกับมาบ้าน” ญาติพี่น้องเว่าให้
พอไปเรียนมหาวิทยาลัย สาขาภาษาอังกฤษและการสื่อสาร เฮาใช้เวลาเสาร์-อาทิตย์ในการทำค่ายภาษาอังกฤษเพื่อฝึกภาษาอังกฤษ เฮาได้ทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อจนสำเร็จปริญญาโท จาก Brandeis University ณ สหรัฐอเมริกา ได้ทุนการศึกษาไปฝึกงานและลงพื้นที่ที่ประเทศกาน่า ทวีปแอฟริกา เฮาภูมิใจในความสำเร็จของเฮา เพราะเฮาเดินทางมาไกล เท่าที่เด็กบ้านนอกด้อยโอกาสคนหนึ่งสิเฮ็ดได้
แต่เฮาบ่ได้บอกว่าเฮาเฮ็ดทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง คนรอบข้างเฮามีส่วนร่วมในทุกก้าวของความสำเร็จของเฮา
ทั้งหลวงพ่อผู้ซึ่งให้ข้าวก้นบาตรเฮากิน
พ่อแม่ผู้เสียสละทุกอย่างเพื่อการศึกษาเฮา
เพื่อนๆ หมู่ฮักที่ให้เงินเฮายืมในยามจำเป็น และเป็นกำลังใจให้เฮา
ครูบาอาจารย์ที่สนับสนุนทั้งด้านทุนทรัพย์และคำแนะนำต่างๆ
และรวมไปถึงสามีและครอบครัวของสามีของเฮาด้วย
แต่ท้ายที่สุดแล้วมันก็คือตัวเฮาเองบ่แมนบ่ที่มุ่งมั่น แสดงศักยภาพให้คนเหล่านั้นเชื่อในตัวเฮาและคอยสนับสนุนให้กำลังใจเฮาจนมื่อนี่เฮาประสบผลสำเร็จในด้านการเรียน ในหน้าที่การงาน มีโอกาสได้เดินทางหาประสบการณ์ในต่างแดน และท้ายที่สุดได้ซอยเหลือครอบครัวปลดหนี้สิน และหลุดพ้นจากวังวนของความยากจนข้นแค้น
แต่สำหรับคนทั่วไปที่มองภาพ “เมียฝรั่ง” แบบเหมารวมและตีราคาและความหมายไว้อยู่แล้ว สิ่งเหล่านั้นมันก็บ่ได้สำคัญอีหยัง หรือมีความหมายอีหยัง
บางเทือเฮาก็อยากลบภาพเหมารวมของ “เมียฝรั่ง” หรือ “ผู้หญิงชอบผู้ชายรวย” ออกไป จุดยืนของเฮาคือผู้ญิงทุกคน…ผู้ญิงอีสานทุกคน มีศักยภาพเท่าๆ กับคนอื่นๆ ในสังคม เฮาบ่แมนสิมองหาแต่ “สามีฝรั่ง” หรือ “สามีรวย”
ตอนเฮาแต่งงาน ปลายปีก่อนเฮากลับบ้านมาจัดงานแต่งงานอยู่เมืองไทย เฮาก็บ่เอาค่าดอง… เฮาคึดว่าเฮาบ่จำเป็นต้องมีค่าดอง เฮาเป็นผู้ญิง เฮามีความสามารถดูแลตัวเองได้
แต่ก็นั่นแหล่ะ ก็บ่มีใผเข้าใจ เขากะว่า “สิกลับบ้านมาแต่งงานเฮ็ดหยัง แต่งแบบบ่มีค่าดอง”
เฮาก็ได้แต่ถอนหายใจ “เฮ้อออ”
แล้วก็บอกโตเองบ่จำเป็นต้องอธิบายให้ใผฟังดอก ครอบครัวเฮา พ่อแม่เฮาเข้าใจก็พอแล่ว แม่เฮาบอกว่า “บ่มีค่าดองมันกะสิเป็นหยัง เฮาเกิดมากะบ่ได้มีสมบัติติดโตมานำจักสิ่งอย่าง เห็นหลายคนแต่งกันเป็นล้าน บ่โดนกะเลิกกัน ความฮักมันบ่มีเงื่อนไข มันบ่มีพรมแดน”
จนเมื่อบ่กี่มื่อมานี่ ช่วงที่เฮากลับเมืองไทยไปเยี่ยมครอบครัว ซึ่งตอนนี้ไปตั้งรกรากอาศัยอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี เฮาไปเดินตลาดหาซื้อกับข้าวมาเฮ็ดแนวกินแลง… เฮาเดินผ่านร้านขายผักของเพื่อนของหลานสาวเฮาเอง เด็กคนนั้นตื่นเต้นมากที่เจอเฮา เพราะเขาเคยมาช่วยล้างจานในงานแต่งเฮาเมื่อ ๑ ปีที่แล้ว และเขาประทับใจที่เฮาดูแลเขาดีมาก
เด็กญิงฮ้องตอบบอกยาย “ยาย…ยาย นี่อานิด… อาของไอ้หลิน”
แล้วคุณยายก็ฮ้องตอบกลับมาว่า “อ้าวนี่เหรอที่ว่าได้ผัวฝรั่ง”
เฮากะงงกับท่าทีตอบรับของคุณยาย มันบ่ค่อยสอดคล้องกับท่าทีของหลานเลย ก็ได้แต่ตอบไปว่า “จ้าคุณยาย” ด้วยน้ำเสียงหวานๆ สำเนียงภูเวียงผสมอุบล
หลังจากถามสารทุกข์สุกดิบ เฮากะช่วยซื้อผักกับคุณยาย แล้วก็ขอตัวลากลับ พอแต่เฮาสิยางออกจากตลาด คุณยายก็ฮ้องตามหลังเฮามาว่า
“หาให้ไอ้อุ๊สักคนบ้างนะ”
ซึ่งคำทิ้งท้ายของคุณยายเฮ็ดให้เฮาต้องชะงัก… และเทือนี่เฮาจะให้มันผ่านเลยไปบ่ได้ เพราะเฮาฮู้สึกว่ามันบ่ยุติธรรมกับเด็กน้อยหลานสาวของคุณยายคนนั้นเลย
เฮาอดบ่ได้ที่ผู้ใหญ่มองข้ามศักยภาพของลูกหลานตัวเองบวกกับความโมโหที่ได้ยินอีหยังแบบนี้ซ้ำซาก จำเจ เฮาจึงหยุด และหันกลับไปเผชิญหน้ากับคุณยายและตอบแกไปว่า
“โอ้ย… คุณยาย อย่าไปปลูกฝังให้หลานแบบนั้นเลยค่ะคุณยาย คุณยายสนับสนุนเรื่องการเรียน ให้หลานตั้งใจเรียน หาโอกาสพัฒนาตัวเอง แล้วก็หาโอกาสในการเรียนรู้จะดีกว่า เมื่อเราเก่ง เป็นตัวของตัวเอง มีความรู้ความสามารถและเป็นคนดี จะเอาผัวไทย ผัวลาว ผัวกัมพูชา ผัวฝรั่ง ก็ได้ทั้งนั้นแหละ แต่อย่าไปปลูกฝังให้เด็กต้องได้ผัวฝรั่งเลยยาย เด็กมันมีความสามารถมีศักยภาพมากกว่านั้นนะคะคุณยาย!”
นิตยา แสนบุตร เป็นนักพัฒนาสังคม ปัจจุบันทำงานกับองค์กร Center for Southeast Asians ณ มลรัฐโร้ดไอแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา นิตยาเป็นคนอีสานที่เกิดและเติบโตในภาคอีสานก่อนที่จะย้ายไปเรียนต่อและทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และปริญญาโทด้านนโยบายและการจัดการสังคมจากมหาวิทยาลัยแบรนไดส์
เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด
Congratulations @the-isaan-record! You received a personal award!
Click here to view your Board
Do not miss the last post from @steemitboard:
Congratulations @the-isaan-record! You received a personal award!
You can view your badges on your Steem Board and compare to others on the Steem Ranking
Do not miss the last post from @steemitboard:
Vote for @Steemitboard as a witness to get one more award and increased upvotes!